ตำบลสุเทพเป็นเขตตำบลที่มีชื่อเสียงในด้านแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออันดับหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่แหล่งรวมอารยธรรมล้านนา เป็นที่ตั้งการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และ มัธยมศึกษาที่ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ จึงนับว่าตำบลสุเทพมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ไม่เฉพาะแต่พี่น้องชาวตำบลสุเทพเท่านั้น ยังรวมถึงคนเชียงใหม่ทั้งจังหวัดด้วย ตำบลสุเทพจึงมีความสำคัญทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของคนเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เดิมได้ยกฐานะจาก สภาตำบล ขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบล และ องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๘ จัดตั้งเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล ชั้น ๓ และได้รับการเลื่อนชั้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ชั้น ๑ (องค์การบริหารส่วนตำบลขนาดใหญ่) ต่อมา กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่าองค์การบริหารส่วนตำบลสุเทพ มีสภาพเหมาะสม และ เป็นไปตามความต้องการของประชาชน จึงได้จัดตั้งเป็น เทศบาลตำบลสุเทพ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
0-14 ปี | 15-24 ปี | 25-59 ปี | 60 ปีขึ้นไป |
---|---|---|---|
167 | 133 | 786 | 449 |
จากการสอบถามประวัติของ “บ้านอุโมงค์” จากชาวบ้านได้พบว่าตั้งชื่อตาม “วัดอุโมงค์” ที่ได้ประดิษฐานอยู่ในหมู่บ้าน โดยมีประวัติของวัดคือ ราวปี พ.ศ. 1839 พระยามังรายทรงสร้างอาณาจักรล้านนาร่วมกับพระสหาย คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์ปกครองสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง กษัตริย์ปกครองพะเยา มาสร้างเมืองเวียงเหล็ก (บริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) และตั้งชื่อเมืองว่า “นพบุรี ศรีนครพิงค์” ท่านมีความใฝ่ในศาสนาพุทธ จึงทรงทำนุบำรุง ส่งเสริมศาสนาให้รุ่งเรืองในล้านนา ในขณะนั้นทางฝ่ายพระเจ้ารามคำแหงมหาราชได้ส่งคนนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาอาศัยอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อที่พระสงฆ์ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุโขทัย เมื่อพระยามังรายทราบข่าวดังกล่าว จึงส่งคนไปนิมนต์พระลังกาจากพระเจ้ารามคำแหง 5 รูป โดยมีพระกัสสปะเถระเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์นี้ โดยจำพรรษาที่วัดการโถม ต่อมาพระยามังรายสร้างวัดเวฬุกัฏฐาราม (ปัจจุบัน คือ วัดอุโมงค์) เมื่อสร้างเสร็จจึงอาราธนาพระมหากัสสปะเถระจำพรรษาที่วัดแห่งนี้
ต่อมาเมื่อพระเจ้ามังรายสวรรคต
ศาสนาพุทธขาดการทำนุบำรุง
เพราะมัวแต่ทำศึกสงครามกันเองในเชื้อพระวงศ์ในการแย่งชิงราชสมบัติ
จนถึงสมัยพระเจ้าผายู ศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูจนถึงสมัยพระเจ้ากือนาธรรมาธิราช
(ประมาณ พ.ศ. 1910) ท่านมีความเลื่อมใสในพระมหาเถระจันทร์
พระเจ้ากือนาจึงสั่งให้คนบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม
เพื่ออาราธนาพระมหาเถระจันทร์จำพรรษาทีวัดแห่งนี้ และตั้งชื่อวัดนี้ว่า
“วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตามชื่อของพระมหาเถระจันทร์ มีการซ่อมแซมเจดีย์โดยการพอกปูน
สร้างอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือจากเจดีย์ ในอุโมงค์มีทางเดิน 4
ช่องซึ่งเชื่อมต่อกันได้
ราชวงศ์มังรายล่มสลาย
เมื่อปี พ.ศ. 2106 เปลี่ยนเป็นพม่าปกครองล้านนา ทำให้วัดอุโมงค์ขาดการทำนุบำรุง
ปล่อยให้ร้าง ปรักหักพังเรื่อยๆ ต่อมา เจ้าชื่น สิโรรส ได้จัดการแผ้วถางบูรณะวัดนี้
และสร้างกุฏิหลังใหม่เพิ่ม จากนั้นจึงนิมนต์พระภิกษุปัญญานันทะจากสวนโมกข์ อ.ไชยา
จ.สุราษฎร์ธานี มาจำพรรษา และท่านได้เผยแพร่ศาสนาสืบไป ต่อมาได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดอุโมงค์
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2512
อาณาเขตของตำบลสุเทพติดต่อกับ 4 ตำบลใน 2 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทศบาลนครเชียงใหม่ และตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่เหียะ และตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลนครเชียงใหม่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง
บ้านอุโมงค์จะภูมิประเทศเป็นลักษณะที่ราบติดกับเชิงเขา
ซึ่งลักษณะของพื้นที่ในทิศตะวันตกส่วนใหญ่เป็นภูเขา ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ส่วนในพื้นที่อื่นๆของชุมชนเป็นที่ราบ
ส่วนใหญ่เป็นสิ่งปลูกสร้าง ตึก อาคารและที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน
บ้านอุโมงค์ หมู่ 10 ตำบลสุเทพ
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพทั่วไปของพื้นที่ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร
โดยจะเหมาะกับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและค้าขายมากกว่า
Village Profile
สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา© Village Profile 2018-2019 - All rights reserved.