โครงการอุเทนถวายอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน :
ภาคีเครือข่ายอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชุมชนยวนสีคิ้ว
วันที่ ๒๓-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘ และวันที่ ๑๐-๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘
พื้นที่ดำเนินการ: ชุมชนชาวยวน อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
หัวหน้าโครงการ: อาจารย์นราธิป ทับทัน และอาจารย์พู่กัน สายด้วง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย
ความเป็นมา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มีภารกิจในการบริการวิชาการแก่ชุมชน แนวทางหนึ่งคือการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนที่มีอยู่เดิมมาบูรณาการกับองค์ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมและการจัดการชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ประกอบกับในมหาศุภมงคลสมัยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง ๙ แห่งได้พร้อมใจกันดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้โครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนโดยการมีส่วนร่วมกับชุมชน ๖๐ หมู่บ้าน อย่างไรก็ดี เพื่อให้ภารกิจการบริการวิชาการสู่ชุมชนของมหาวิทยาลัยฯบรรลุเป้าหมาย ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิทยาเขตอุเทนถวาย จึงได้เลือกพื้นที่ที่มีความพร้อม สำหรับเป็นโครงการนำร่องในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนจากโครงการบริการวิชาการ
(ที่มาของภาพ : https://www.facebook.com/groups/sikhiosociety)
ชุมชนชาวยวนสีคิ้วเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ชาวยวนเหล่านี้คือกลุ่มชาติพันธุ์ยวน (โยน ไตยวน โยนก คนเมือง ไทเหนือ หรือ ไทยล้านนา) มีที่มาจากเมืองเชียงแสนแล้วกลายมาเป็นยวนสีคิ้วด้วยเหตุผลของสงครามในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันชุมชนชาวยวนในอำเภอสีคิ้วถือเป็นชุมชนชาวไทยเหนือที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน โดยยังสามารถดำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เอาไว้หลายประการ อย่างไรก็ตาม ภูมิปัญญาระหัดวิดน้ำ (หลุก) และเรือนพักอาศัยพื้นถิ่นอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สะท้อนความชัดเจนให้กับภูมิทัศน์วัฒนธรรมและนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์ยวน กำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในขั้นวิกฤติ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายและสูญเสียบูรณภาพของชุมชนดั้งเดิม ในขั้นต้น จึงสมควรดำเนินกิจกรรมทางสังคมเพื่อให้ชุมชนเห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่น พร้อมกับสร้างฐานข้อมูลองค์ความรู้มรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนต่อไป
ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกจึงได้ดำเนินโครงการบริการวิชาการ “โครงการอุเทนถวายอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน: ภาคีเครือข่ายอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชุมชนยวนสีคิ้ว” ณ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (โดยสถานศึกษา หน่วยงานราชการ วัด และชุมชน) ซึ่งจะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน การดำเนินงานได้แบ่งเป็นโครงการย่อย ๒ โครงการ โครงการแรกเป็นการ “สืบค้นภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนเกษตรกรรมบริเวณลุ่มน้ำลำตะคอง” มีเป้าหมายมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในท้องที่ในการสืบทอดภูมิปัญญาการทำระหัดวิดน้ำและการจัดการเหมืองฝาย ส่วนโครงการที่สอง “Vernadoc ; ภาคีเครือข่ายการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยภาพลายเส้นทางสถาปัตยกรรม” มุ้งเน้นการสร้างเครือข่ายเก็บข้อมูลสำหรับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยนักศึกษาและภาคีชุมชนเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน
คำถาม/สมมุติฐานในการดำเนินโครงการ
คำถาม: การใช้องค์ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมในงานบริการวิชาการจะต้องใช้วิธีการและดำเนินงานในรูปแบบใด จึงจะสามารถสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้ / สมมุติฐาน: กิจกรรมการบริการวิชาการภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จะช่วยสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมและทัศนคติที่ดีในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างแนวร่วมจากสถานศึกษา หน่วยงานราชการ วัด และชุมชน ในการทำงานร่วมกัน ตามศักยภาพของแต่ละภาคส่วน อันเป็นรากฐานในการสร้างแนวร่วมเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนให้เข้มแข็ง ในลักษณะ “ภาคีเครือข่ายอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชุมชนยวนสีคิ้ว”
วัตถุประสงค์ของโครงการ
วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือ เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และเพิ่มแนวร่วมในกลุ่มภาคีเครือข่ายชุมชน “ภาคีอนุรักษ์สีคิ้ว” และยังมีวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการย่อย ดังนี้
โครงการย่อยที่ ๑ สืบค้นภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนเกษตรกรรมบริเวณลุ่มน้ำลำตะคอง
๑.๑) เพื่อบริการวิชาการ “สืบค้นภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนเกษตรกรรมบริเวณลุ่มน้ำลำตะคอง”
๑.๒) เพื่อใช้การบริการวิชาการเป็นกลไกสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีชุมชน
๑.๓) เพื่อถอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนฯ
๑.๔) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนฯ
โครงการย่อยที่ ๒ Vernadoc ; ภาคีเครือข่ายการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยภาพลายเส้นทางสถาปัตยกรรม
๒.๑ เพื่อบริการวิชาการ “Vernadoc ; ภาคีเครือข่ายการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยภาพลายเส้นทางสถาปัตยกรรม”
๒.๒ อบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้และเรียนรู้ทักษะการเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยภาพลายเส้นทางสถาปัตยกรรม
๒.๓ เพื่อบันทึกข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในชุมชนด้วยภาพลายเส้นทางสถาปัตยกรรม
๒.๔ สร้างศักยภาพในการเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นโดยภาคีชุมชน และเพิ่มแนวร่วมในกลุ่มภาคีเครือข่ายชุมชน“ภาคีอนุรักษ์สีคิ้ว”
วิธีการ
กระบวนการดำเนินงานใช้องค์ความรู้ทาง “การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและชุมชน” ในการถอดองค์ความรู้ ร่วมกับชุมชนเรียนรู้ทักษะการเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น กิจกรรมการบันทึกข้อมูลสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในชุมชนด้วยภาพลายเส้นทางสถาปัตยกรรม และการคืนความรู้สู่ชุมชน เป็นกลไกสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีหลายภาคส่วน โดยดำเนินการในรูปแบบการจัดสัมมนา เสวนา แลกเปลี่ยนความรู้ การฝึกการอบรม การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการจัดนิทรรศการ
โครงการย่อยที่ ๑ การดำเนินการได้ใช้พื้นที่วัด โรงเรียน และชุมชน เป็นเป้าหมายหลักในกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยประสานกับตัวแทนชุมชน เจ้าอาวาสวัดใหญ่สีคิ้ว ครูสุธัญญา สิทธิกูลเกียรติ (โรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา”) นายเฉลิม แสนธิ (ช่างอาวุโส) นายธรรมนูญ ยิ่งยืน (สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา) และนายสะอาด นาคาเริงฤทธิ์ (ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสีคิ้ว) ร่วมกับชุมชน ดำเนินการสัมมนาและเสวนาร่วมกันเพื่อถอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนฯ ร่วมกับผู้รู้ในชุมชน (โดยมีนักเรียนโรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” คณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เข้าร่วมกิจกรรมหรือร่วมสังเกตการณ์) ซึ่งสามารถถอดองค์ความรู้ระหัดวิดน้ำที่ใกล้จะสาบสูญไว้เป็นฐานข้อมูลของชุมชน พร้อมกับตีระหัดวิดน้ำ (หลุก) เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้รับบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็น เยาวชนและเกษตรกร และใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน
โครงการย่อยที่ ๒ การดำเนินการได้เลือกเรือนเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมในชุมชนจำนวน ๒ หลัง เพื่อนำร่องการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการ Vernadoc โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่งคณาจารย์ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินโครงการหรือมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงความร่วมมือจากชุมชนชาวยวนในอำเภอสีคิ้ว โรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” เทศบาลเมืองสีคิ้ว และวัฒนธรรมอำเภอสีคิ้ว (รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพที่ส่งคณาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ)
ผลการดำเนินงาน
การดำเนินงานโครงการบริการวิชาการฯ ส่งผลให้ชุมชนและภาคีเครือข่ายมีศักยภาพในการถอดองค์ความรู้ทางเชิงช่างและ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้ โดยสร้างระหัดวิดน้ำเป็นแหล่งเรียนรู้ และสามารถเก็บข้อมูลเรือนพื้นถิ่นเอาไว้ในรูปแบบลายเส้นสถาปัตยกรรม ซึ่งถือเป็นการนำร่องการสร้างฐานข้อมูล (Document) มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน พร้อมกับสร้างกระแสความตื่นตัวในการอนุรักษ์อาคารเก่าในชุมชนและเกิดทัศนคติในการเล็งเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนได้ตามสมควร พร้อมกันนี้ได้เกิด “ภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและชุมชน” ในการเก็บข้อมูลมรดกวัฒนธรรม ภายใต้ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยจากส่วนกลาง หน่วยงานท้องถิ่น วัด และชุมชน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างแนวร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนร่วมกันต่อไป
โครงการบริการวิชาการฯ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน โดยเข้าเก็บข้อมูลระหว่างดำเนินโครงการ และนำเสนอใน “ข่าวไทยบันเทิง” (ดูข่าวอนุรักษ์ “เรือนไทยวน” สีคิ้ว) ทางช่อง ThaiPBS โดยออกอากาศวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๙.๕๐ น. ซึ่งถือเป็นผลตอบรับหนึ่งของโครงการบริการวิชาการฯ ของมหาวิทยาลัย ที่ช่วยสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
แนวทางการขยายผลการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืนหรือสิ่งที่สามารถต่อยอดได้
ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ฯ ให้เกิดขึ้นในชุมชนได้แล้วก็ตาม หากแต่ภาคีแนวร่วมนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนยังต้องการกระบวนการรวบรวมเพื่อเติมเต็ม ข้อมูลอีกมาก โดยเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรม เนื่องจากเรือนเก่าในชุมชนกำลังลดลงอย่างน่าใจหาย ดังนั้นการขยายผลการดำเนินงานให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน จึงสมควรจัดทำโครงการในลักษณะค่ายเก็บข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในชุมชนนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างฐานข้อมูลมรดกวัฒนธรรมของชุมชนให้ครอบคลุม ควบคู่กับกระบวนการเสริมสร้างทัศนคติด้านการอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดเป็นชุมชนนำร่องด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง พร้อมกับพัฒนาภาคีเครือข่ายความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดนครราชสีมาและสถาบันอุดมศึกษาในส่วนกลางเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง